วัตถุดิบหลักสำหรับผลิตที่นอน

ที่นอนที่เราใช้กันอยู่ มีวัตถุดิบอะไร คุณสมบัติอย่างไร

การซื้อที่นอนที่จะอยู่กับผู้ใช้ไปอีกนาน เราจึงอยากให้ผู้ใช้ทราบสิ่งเหล่านี้ ก่อนตัดสินใจซื้อ

 

> ผ้าหุ้มที่นอน <

ผ้าหุ้มที่นอนมีหลากหลายชนิด การเลือกใช้ผ้าหุ้มอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งานของลูกค้า

1. ผ้านิตติ้ง / ผ้าหนานุ่ม (ยอดนิยม)  : ผิวสัมผัสนุ่ม ระบายอากาศ นิยมใช้มากตามบานเรือนทั่วไป


  

2. ผ้าแจ็คการ์ด / ผ้านอก : ผ้ามีลวดลาย(เหลือบ)ในตัวสวยงาม สัมผัสหยาบกว่านิตติ้ง

  

3. ผ้าขนมิ้ง / ผ้าสักกะหลาด : สัมผัสนุ่มเหมือนขนตุ๊กตา เพิ่มความหรูหราให้ที่นอน มีราคาค่อนข้างแพง

  

4. ผ้าจีน / ผ้าซาติน : ลักษณะเงาวาวสวยงาม สัมผัสลื่นที่สุด ไม่นุ่ม

  

5. ผ้าเกาหลี / ผ้าพงกี่ : สัมผัสหยาบ โปร่ง แต่ราคาถูก สีสันและลวดลายมาก

  

6. หนังเทียม / PVC : ด้วยคุณสมบัติ ไม่เก็บฝุ่น ป้องกันการซึมเปื้อน เช็ดทำความสะอาดง่าย ไม่ต้องกังวลเรื่องที่นอนเลอะ นิยมใช้มากในสถานพยาบาล ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือบ้านที่เลี้ยงสัตว์ 

 

 

เปรียบเทียบคุณสมบัติ

ราคา (มาก >> น้อย) : ผ้าขนมิ้ง > ผ้านิตติ้ง > PVC > ผ้าแจ็คการ์ด > ผ้าจีน > ผ้าเกาหลี

สัมผัสนุ่ม (มาก >> น้อย) : ผ้าขนมิ้ง > ผ้านิตติ้ง > PVC > ผ้าจีน > ผ้าแจ็คการ์ด > ผ้าเกาหลี

ความหนา (มาก >> น้อย) : ผ้านิตติ้ง > ผ้าขนมิ้ง > PVC > ผ้าแจ็คการ์ด > ผ้าจีน > ผ้าเกาหลี


 > ชั้นที่นอน <

ที่นอนแบ่งหลักๆเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ที่นอนสปริง : มีโครงสร้างสปริงเป็นหลักเน้นรับน้ำหนักและรองรับสรีระ มีน้ำหนักไม่มาก(หากไม่หนา) มีวัสดุอื่นๆประกอบ เพื่อให้ที่นอนสปริงสมบูรณ์ขึ้น เช่น โฟม(ฟองน้ำ) ยางพารา ใยสังเคราะห์อัด โดยจะมีทั้งสปริงลักษณะที่เป็น โครงสปริง และ พ็อคเก็ตสปริง
  2. ที่นอนไม่มีสปริง : อาจมีวัตถุดิบเดียว (ที่นอนยางพาราล้วน / ที่นอนฟองน้ำอัดล้วน) หรือหลายวัตถุดิบหลายชั้นประกอบ ขึ้นอยู่กับความต้องการการใช้งาน

โดยบทความนี้จะกล่าวถึงวัตถุดิบที่นอน และคุณสมบัติเบื้องต้น

 

โครงสปริง : แกนหลักของที่นอนสปริง โดยจะมีตัวโครงยึดเหนี่ยวลูกสปริงเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้แข็งแรงคงทน แต่มีความอิสระน้อยกว่า พ็อคเก็ตสปริง โดยโครงสปริงมีความแน่นแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเบอร์ของลวดสปริง จำนวนลูกสปริง เป็นต้น

ข้อดี : โครงสร้างแข็งแรง รับน้ำหนักได้ดี ยืดหยุ่นสูง ลดแรงกดทับขณะหลับ กระจายน้ำหนักตัวได้เป็นวงกว้างมากกว่า มีความทนทานสูงเมื่อใช้งานถูกวิธี น้ำหนักเบา

ข้อเสีย : อาจเกิดเสียงเสียดสีระหว่างโลหะเมื่อใช้งานเป็นเวลานาน 

ข้อแนะนำ : เพื่อถนอมให้โครงสปริงไม่เสียหายและใช้ได้นาน ไม่ควรกระโดดบนโครงสปริง หรือนั่งทับบริเวณใด บริเวณหนึ่งเป็นเวลานาน อาจทำให้ลูกสปริงบริเวณนั้นๆเสียรูป หรือเองเทไปด้านใดด้านหนึ่ง เพราะโครงสปริงออกแบบมากับที่นอนที่รองรับการกระจายน้ำหนักตัวขณะเรานอน การนั่งที่ขอบเตียงอาจทำให้น้ำหนักไม่กระจายตัวเท่าที่ควร

 

พ็อตเก็ตสปริง : ลูกสปริงที่ไม่มีเหล็กยึดเหนี่ยวกันไว้ แต่ถูกจัดระเบียบ บนสปันบอนด์บาง มีความอิสระของการยุบตัวของตัวสปริงเฉพาะเจาะจงบริเวณมากขึ้น

ข้อดี : การยุบตัวของสปริงอย่างอิสระเมื่อมีน้ำหนักกดทับนี้ ทำให้ไม่เกิดเสียดัง ผู้ขายสินค้าจึงโปรโมทพ็อตเก็ตสปริงได้ว่า เมื่อมีการสั่นสะเทือนที่ด้านหนึ่ง จะไม่กระทบกระเทือนอีกด้านหนึ่งอย่างแน่นอน มีน้ำหนักเบากว่าโครงสปริง เนื่องจากไม่มีโครงเหล็กที่ยึดเหนี่ยวต่อกัน

ข้อเสีย : ความแข็งแรงน้อยกว่าแบบโครงสปริง เนื่องจากไม่มีการยึดกันแน่น มีโอกาสสูงกว่า ที่ลูกสปริงจะเสื่อมเฉพาะจุดมากขึ้น เพราะไม่มีการกระจายน้ำหนักเท่ากับแบบโครงสปริง

 

แผ่นใยสังเคราะห์อัด : มักใช้ประกบชั้นสปริงบนและล่าง เพื่อใช้รองรับสปริงและป้องกันขอบลูกสปริงที่อาจเกี่ยววัตถุดิบอื่นเสียหาย

แผ่นยางพาราแท้ : คุณสมบัติยืดหยุ่นของยางพารา ทำให้ลดแรงกดทับขณะหลับได้ดี นิยมมากในการนำมาทำชั้นที่นอนข้อเสียคือกลิ่น และการเปื่อยแห้งเสื่อมสภาพหากสัมผัสอากาศและความร้อนมากเกินไป และ ราคาค่อนข้างสูง

 

แผ่นเมมโมรี่โฟม : เป็นที่นิยมสำหรับผู้ที่ชอบนอนที่นอนแบบนุ่มๆจมๆ เป็นฟองน้ำ(โฟม) สังเคราะห์เพื่อลดแรงกดทับโดยเฉพาะ โดยจะค่อยๆคืนตัว ทำให้แรงต้านผิวด้านที่กดทับน้อยมาก นิยมนำมาทำเป็นหมอนหนุน และปัจจุบันก็มีนำมาทำชั้นที่นอนเพราะคุณสมบัติโดดเด่นนี้เช่นกัน เหมาะมากสำหรับกลุ่มผู้ใช้งาน เช่นผู้ป่วยติดเตียง ลดแผลกดทับ ไม่มีกลิ่นฉุน และน้ำหนักเบา ข้อเสียคือมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับโฟมทั่วไป และคุณสมบัติที่อมความร้อน แต่ไม่มีผลกับผู้ที่นอนในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ

 

แผ่นโฟม (ฟองน้ำสังเคราะห์) : ฟองน้ำสังเคราะห์ที่ความหนาแน่นต่างๆกัน ก็เป็นที่นิยมเพื่อเพิ่มผิวสัมผัสให้ที่นอนมีความนุ่มขึ้น น่าใช้เพิ่มความสุขในการพักผ่อน

 

ฟองน้ำอัด : เป็นการนำเศษฟองน้ำมาอัดขึ้นรูปให้มีความแน่นสูง นิยมนำมาใช้เป็นฐานที่นอน (สำหรับที่นอนไม่มีสปริง) เนื่องจากคุณสมบัติความหนาแน่นสูง และมีความแข็งแรงมาก ใช้งานได้นาน เหมาะกับผู้ไม่ชอบนอนที่นอนสปริง ผู้ที่ต้องการนอนที่นอนค่อนไปทางแข็ง โดยหากไม่ต้องการให้ผิวสัมผัสด้านแข็งจนเกินไป มักจะใช้คู่กัน แผ่นยางพารา 1-2 นิ้ว หรือ แผ่นเมมโมรี่โฟม 1-2 นิ้ว หรือ แผ่นฟองน้ำ 1-2 นิ้ว หรือบางครั้งอาจนำมาใช้กับที่นอนสปริงได้ด้วยแต่ใช้เป็นแผ่นบางเพิ่มความเฟิร์มให้ที่นอนสปริง ไม่ให้อ่อนยวบจนเกินไป

 

ยางพาราอัด : ความแน่นและความแข็งแรงระดับเดียวกันกับฟองน้ำอัด แต่มีราคาสูงกว่า และมีความหยุ่นกว่านิดหน่อย มักใช้เป็นฐานเช่นกัน ในท้องตลาดนิยมใช้มาก และนิยมใช้ในการตลาดอย่างมาก ลูกค้าจึงต้องแยกระหว่าง "ยางพาราแท้" และ "ยางพาราอัด" เพราะคุณสมบัติแตกต่าง โดยยางพาราแท้ที่ฉีดขึ้นรูปมาจากน้ำยางพาราจะมีความยืดหยุ่น แต่ยางพาราอัดจะมีความแน่นและยืดหยุ่นนิดหน่อย ยางพาราอัดจะมีราคาที่ถูกกว่ายางพารามาก จึงนิยมมากสำหรับนำมาผลิตที่นอนในปัจจุบัน

 

แผ่น PE : คุณสมบัติยืดหยุ่นสูง กันน้ำ น้ำหนักเบา ราคาถูก นำมาใช้แทนแผ่นใยมะพร้าว(ที่อาจก่อให้เกิดฝุ่น)

 

 

สนใจสั่งซื้อสินค้าที่นอน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้